คำแนะนำตรวจสุขภาพก่อนศึกษาต่อต่างประเทศ

(คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง) ผู้เขียนบทความ : นายแพทย์ วรพจน์ นรสุชา

คำแนะนำตรวจสุขภาพก่อนศึกษาต่อต่างประเทศ

คำแนะนำตรวจสุขภาพก่อนศึกษาต่อต่างประเทศ

 

การศึกษาต่อต่างประเทศนั้นถือเป็นประสบการณ์หนึ่งในชีวิตที่เด็กไทยหลายคนอยากมีโอกาสได้ไปลองสัมผัสดูสักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการไปแลกเปลี่ยนระยะสั้นๆ หรือการไปเรียนต่อระยะยาวตั้งแต่ระดับประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะการเรียนต่อในแง่วิชาการอย่างเดียว แต่รวมถึงในแง่สาขาวิชาชีพ ศึกษาศาสนา หรือเรียนรู้เพื่อต่อยอดประสบการณ์ชีวิตก็ได้เช่นเดียวกัน

การตรวจสุขภาพก่อนศึกษาต่อต่างประเทศนั้น เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่องค์กรในต่างประเทศส่วนใหญ่จะให้นักศึกษาทุกคนทำในการยื่นเอกสารสมัครเรียน เพื่อให้มั่นใจได้ว่านักศึกษามีสุขภาพร่างกายที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา ไม่มีโรคอันตรายหรือรุนแรงที่สามารถแพร่ระบาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของบุคลากรในวงกว้างขององค์กรนั้นๆได้

โดยปกติแล้ว รายการตรวจสุขภาพของแต่ละประเทศและแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระดับ/คณะที่จะเข้าเรียนและนโยบายของแต่ละประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น (1) รายการตรวจสุขภาพในการเรียนต่างประเทศของเด็กระดับมัธยมกับนักศึกษาปริญญาโท หรือการเรียนปริญญาตรีคณะสายศิลป์กับสายการแพทย์ ก็จะมีความแตกต่างกันได้อย่างมาก หรือ (2) นโยบายการฉีดวัคซีนพื้นฐานของต่างประเทศ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศไทยมีความแตกต่างกัน เด็กไทยที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบหลักฐานวัคซีนของตัวเองอีกครั้งว่าตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ดังนั้นจึงแนะนำผู้เข้ารับบริการทุกท่านตรวจสอบรายละเอียดการตรวจกับทางองค์กรเบื้องต้น หรือหากมีฟอร์มการตรวจสุขภาพขององค์กรนั้นๆ ให้นำมาด้วยในวันเข้ารับบริการ เพื่อจะได้รับการตรวจที่เหมาะสมและตรงต่อความต้องการขององค์กรหรือประเทศนั้นมากที่สุด

รายการตรวจสุขภาพและหลักฐานการมีภูมิคุ้มกันต่อโรค/วัคซีน ที่พบเจอได้บ่อย ได้แก่:

 

  1. การตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการวัดสัญญาณชีพ ชั่งน้ำหนัก ส่วนสูง
  2. การตรวจสายตา และการประเมินภาวะตาบอดสี
  3. การตรวจเลือด
    • การตรวจเลือดทั่วไป เช่น หาหมู่โลหิต (blood group ABO) หรือการตรวจค่าความสมบูรณ์เลือด (CBC) เป็นต้น
    • การตรวจคัดกรองโรค หรือตรวจภูมิต่อโรคต่างๆ เช่น โรคเอชไอวี (anti-HIV) โรคซิฟิลิส (RPR/VDRL) โรคไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg, anti-HBs) เป็นต้น
  4. การตรวจปัสสาวะ เช่น การตรวจปัสสาวะทั่วไป (urinalysis) การตรวจคัดกรองสารเสพติด หรือคัดกรองการตั้งครรภ์ เป็นต้น
  5. การตรวจการได้ยิน (Audiogram)
  6. การตรวจเอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray)
  7. การคัดกรองวัณโรค: เนื่องจากประเทศไทยยังถือว่าเป็นประเทศที่มีโรควัณโรคอยู่ประจำถิ่น องค์กรต่างประเทศจึงมักแนะนำให้นักศึกษาไทยมีการตรวจคัดกรองวัณโรคก่อนเข้าศึกษา โดยสามารถตรวจหลักๆได้อยู่ 3 วิธี (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรอนุมัติให้ใช้วิธีตรวจแบบใด) ได้แก่
    • การทดสอบปฏิกิริยาวัณโรคบนผิวหนัง (Tuberculin skin test / PPD test / Mantoux test) โดยจะสามารถแปรผลได้ 48-72 ชมหลังการทดสอบ
    • การตรวจเลือด IGRA test (Interferon gamma release assay test)
    • การตรวจเอกซ์เรย์ทรวงอก (Chest X-ray)
  8. การตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) การคัดกรองภาวะโรคจิตเวช ตรวจคัดกรองพยาธิในอุจจาระ เป็นต้น

หลักฐานการมีภูมิคุ้มกันต่อโรคตามนโยบายการฉีดวัคซีนของประเทศปลายทาง เช่น หลักฐานการมีภูมิคุ้มกันหรือได้รับวัคซีนป้องกันโรค โรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR: Measles-Mumps-Rubella vaccine), วัคซีนโรคอีสุกอีใส(Varicella vaccine), วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก-โรคคอตีบ-โรคไอกรน เข็มกระตุ้น (Tdap: Telanus-Diphtheria-Pertussis vaccine), วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine) เป็นต้น

* รายการตรวจทั้งหมด รวมถึงวิธีการคัดกรองวัณโรคนั้น ขึ้นอยู่กับองค์กรที่นักศึกษาจะไปสมัครเรียน รายการข้างต้นถือเป็นตัวอย่างที่พบเจอได้บ่อยเท่านั้น *

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นพ. สกานต์ เจริญสกุลไชย/นพ. วรพจน์ ทรัพย์ศิริสวัสดิ์

 

 

            ในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับบริการการตรวจสุขภาพนั้น แนะนำให้ผู้เข้ารับบริการเตรียมเอกสารทั้งหมดให้พร้อม โดยเฉพาะเอกสารสำเนาบัตรประชาชน/พาสปอร์ต รูปถ่าย และแบบฟอร์มขององค์กร (ถ้ามี) หากมีประวัติหรือสมุดวัคซีนเดิมให้นำมาด้วย เตรียมข้อมูลหรือประวัติการเจ็บป่วยและยา/อาหารเสริมที่ใช้เป็นประจำเพื่อประกอบการพิจารณาของแพทย์อย่างครบถ้วน หากมีข้อมูลหรือข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ 033-038871 ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ