โรคตาในผู้สูงอายุ ความเสื่อมที่ต้องเตรียมรับมือ

(ศูนย์จักษุ) ผู้เขียนบทความ : แพทย์หญิง วิภาวี พุฒิวิญญู

โรคตาในผู้สูงอายุ ความเสื่อมที่ต้องเตรียมรับมือ

 

โรคตาในผู้สูงอายุ

ความเสื่อมที่ต้องเตรียมรับมือ

 

อายุที่เพิ่มมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือความเสื่อมต่างๆของร่างกาย รวมถึง “ปัญหาสุขภาพตา” โดยส่วนมากดวงตามักเริ่มเสื่อมสภาพลง ตั้งแต่ อายุ 40 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งตรวจพบความเสื่อมของดวงตาและโรคทางตาได้มากขึ้นตามไปด้วย
 

“ดังนั้น ในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี จึงควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง”

 

5 โรคตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

 

1. สายตายาวในผู้สูงอายุ (Presbyopia)

ปัญหาสายตายาวในผู้สูงอายุ เกิดจากความสามารถในการเพ่งของกล้ามเนื้อตาลดลง เลนส์แก้วตาขาดความยืดหยุ่น ทำให้มองระยะใกล้ไม่ชัดเจน ปรับโฟกัสได้ช้าลง ต้องอ่านหนังสือหรือทำงานในระยะห่างขึ้น หากพยายามเพ่งจะทำให้มีอาการปวดรอบเบ้าตา ดวงตาล้า จนถึงขั้นปวดศีรษะได้ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดได้กับทุกคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถรักษาด้วยการใช้แว่นสายตา ลดการเพ่ง หรือการทำเลสิก

 

 

2. ต้อกระจก (Cataract)

เป็นความเสื่อมของเลนส์แก้วตา เกิดขึ้นกับทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยเลนส์แก้วตาจะค่อยๆแข็งและขุ่นขึ้น สายตาจึงมัวลง จะเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อาการที่พบได้บ่อยของต้อกระจก ได้แก่ ตามัวลง เห็นสีผิดเพี้ยนไป เห็นภาพซ้อน เวลามองเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบังเวลามองภาพ ตาสู้แสงไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการขับขี่ยานพาหนะโดยเฉพาะตอนกลางคืน เห็นสีผิดไปจากเดิม ต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อยๆ แต่สวมแว่นแล้วก็ยังมองเห็นไม่ชัด สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัดสลายต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมทดแทน

 

3. ต้อหิน (Glaucoma)

ต้อหินถือเป็นภัยเงียบที่ร้ายแรง มักไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าและสามารถทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบหมอตาตอนที่โรคเป็นมากแล้ว จนการมองเห็นเริ่มแย่ลง
ต้อหินเกิดจากภาวะความดันลูกตาสูงจนทำลายขั้วประสาทตา ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมอย่างถาวร ยกเว้นต้อหินชนิดมุมปิดเฉียบพลัน ที่จะมีอาการปวดตามาก ตาแดง ตามัวลง และเห็นแสงรุ้งรอบดวงไฟ อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วยได้ ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคต้อหิน คือ ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหิน มีประวัติการใช้ยาสเตียรอยด์ สายตาสั้นหรือยาวมาก เคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือมีโรค
ประจำตัวอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไมเกรน ภาวะนอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ

 

4. โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age – Related Macular Degeneration : AMD)

เกิดจากจุดรับภาพบริเวณกลางจอประสาทตาเสื่อม มักเป็นไปตามวัย พบมากในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นถาวร อาการที่สังเกตได้คือ มองไม่ชัด มองเห็นภาพบิดเบี้ยว ตาพร่ามัว มีจุดดำหรือเงาตรงกลางภาพ ซึ่งจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคที่ต้องรีบทำการรักษากับจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อรักษาและช่วยควบคุมไม่ให้การมองเห็นแย่ลงจนรบกวนคุณภาพชีวิต ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาจอประสาทตาเสื่อมให้หายขาดได้ เพราะฉะนั้นการป้องกันดูแลที่ดีที่สุดคือ การตรวจคัดกรองและดูแลรักษาดวงตาอย่างรวดเร็ว

 

5. ภาวะตาแห้ง (Dry eyes)

เป็นโรคทางตาที่พบได้บ่อยเมื่อก้าวสู่วัยสูงอายุ เนื่องจากคุณภาพของน้ำตาลดลง น้ำตามีปริมาณไม่มากพอที่จะเคลือบให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาได้ทั่วถึง เกิดจากกระบวนการสร้างน้ำตาทำงานผิดปกติ หรือ มีการระเหยของน้ำตาเร็วเกินไป มักมีผลพวงมากจากต่อมน้ำตาเสื่อมตามวัย ต่อมไขมันเปลือกตาอุดตัน เปลือกตามีลักษณะผิดปกติไปจากเดิม เช่นมีหนังตาตก หนังตาม้วนเข้าหรือออกผิดปกติ ภาวะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป หรือ จากโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ หรือการใช้ยาบางชนิด ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในตา แสบตา ไม่สบายตา รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายอยู่ในตา ตาพร่ามัวเป็นพักๆ หากอาการตาแห้งรุนแรงอาจทำให้มีรอยแผลที่กระจกตาได้ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่สบายตาเรื้อรัง การมองเห็นแย่ลง จึงอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้

 

 

การตรวจคัดกรองโรคตาอย่างละเอียดในผู้สูงอายุจะช่วยให้ทราบถึงภาวะและปัญหาที่แท้จริงของดวงตา เมื่อพบปัญหาในระยะเริ่มแรก จะสามารถรักษาได้ตรงจุดและชะลอการสูญเสียการมองเห็น ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มจากปัญหาการมองเห็นได้ ลูกหลานควรใส่ใจ ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
แพทย์หญิงวิภาวี พุฒิวิญญู  จักษุแพทย์ รพ.สมิติเวชชลบุรี

 

สอบถามนัดหมาย ศูนย์จักษุ โทร 033-038911


ปรึกษาข้อมูลและติดตามข่าวสารสุขภาพ ได้ที่
----------------------------------
> Line : @dr.samitchon หรือ https://lin.ee/aEJviRL
> Social Media : https://linktr.ee/samitivejchonburi

 





doctor icon
แนะนำแพทย์ ประจำศูนย์

icon-articleบทความประจำศูนย์

ดูทั้งหมด