ตรวจสุขภาพประจําปี ต้องตรวจอะไรบ้างให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

(ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ) ผู้เขียนบทความ : ผู้ดูแล

ตรวจสุขภาพประจําปี ต้องตรวจอะไรบ้างให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย

สุขภาพที่ดี เป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนา เพราะสุขภาพย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเมื่อรูปแบบไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อร่างกายมากมาย ซึ่งในบางครั้งโรคภัยไข้เจ็บก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยประเมินสุขภาพโดยรวมของร่างกายให้รู้เท่าทัน สามารถหาทางรักษา หรือแนวทางแก้ไขไม่ให้เกิดโรคลุกลามได้ บทความนี้จึงจะพาไปรู้จักให้ชัดว่าการตรวจสุขภาพประจำปีในแต่ละวัยต้องใส่ใจในการตรวจอะไรบ้างและต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้การตรวจสุขภาพให้ผลลัพธ์ถูกต้องแม่นยำมากที่สุด

การตรวจสุขภาพประจำปี แต่ละช่วงอายุต้องตรวจอะไรบ้าง ?

ก่อนอายุ 30 ปี

หลายคนอาจคิดว่าการตรวจสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า วัยหนุ่มสาวก็มีความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่นกัน ซึ่งการตรวจสุขภาพในวัยก่อนอายุ 30 ปี จะสามารถช่วยค้นหาโรคแฝง รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากโรคภัยที่ยังไม่แสดงอาการ ทำให้สามารถวางแผนในการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม โดยการตรวจสุขภาพประจำปีพื้นฐาน เช่น

  • ตรวจความสมบูรณ์ในเม็ดเลือด เพื่อตรวจหาภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อ
  • ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน
  • ตรวจวัดระดับไขมันในเลือด เพื่อคัดกรองโรคไขมันในเลือดสูง
  • ตรวจวัดระดับกรดยูริก เพื่อคัดกรองโรคเกาต์
  • ตรวจการทำงานของไต ตับ เพื่อประเมินการทำงานของอวัยวะ
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อค้นหาภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคไต
  • เอกซเรย์ปอด เพื่อคัดกรองโรคปอด

ช่วงอายุ 30-39 ปี

ในช่วงวัยนี้ หลายคนมักทุ่มเทให้กับการทำงาน เพื่อมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงในชีวิต แต่สุขภาพที่ดีนี่แหละ คือรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายในระยะยาว การตรวจสุขภาพในวัยนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นวัยที่เริ่มมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งการตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา โดยควรให้ความสำคัญกับการตรวจเหล่านี้

  • ตรวจประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ เพื่อตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดไขมันในเลือด
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อจากการทำงานและการใช้ชีวิต นอกจากนี้ยังควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรค ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV)

ช่วงอายุ 40-59 ปี

หากไม่ได้ดูแลตัวเองให้ดีตั้งแต่ต้น ผลจะเริ่มมาปรากฏอย่างชัดเจนในช่วงวัยนี้ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ร่างกายจะเริ่มเสื่อมสภาพ โรคภัยต่าง ๆ เริ่มแสดงอาการ การตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงมีความสำคัญยิ่ง เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่วัยทองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไปและการตรวจคัดกรองโรคเพิ่มเติม เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจวัดไขมันในเลือด ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และการตรวจระดับคอเลสเตอรอลแล้ว ยังควรตรวจความเสี่ยงมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย หรือตรวจมะเร็งปากมดลูกและตรวจมะเร็งเต้านมสำหรับผู้หญิง นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพตาเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในดวงตาก็ถือว่ามีความสำคัญเช่นกัน

คุณหมอตรวจสุขภาพ ติดตามอาการคนไข้

ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป

เข้าสู่ช่วงวัยทองที่ร่างกายเสื่อมสภาพ อวัยวะและระบบในร่างกายล้วนทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา การตรวจสุขภาพประจำปี จึงสามารถช่วยติดตามผลการรักษาและช่วยลดโอกาสการเกิดโรคแทรกซ้อนได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากการตรวจสุขภาพพื้นฐานและการตรวจเพิ่มเติมที่ไม่ต่างจากในช่วงอายุ 40-59 ปีแล้ว การตรวจสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะผู้สูงอายุในวัยนี้มักมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า

ก่อนตรวจสุขภาพประจำปีต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
    เนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอล้วนส่งผลต่อค่าต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระดับฮอร์โมน ไขมัน น้ำตาล ดังนั้น จึงควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ
  • งดอาหารและเครื่องดื่ม
    โดยควรงดอาหารอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ ยกเว้นน้ำเปล่าที่สามารถจิบได้ เพื่อให้ผลการตรวจมีความถูกต้องมากขึ้น และไม่กระทบต่อผลในการตรวจโรคเบาหวาน หรือคอเลสเตอรอล
  • พยายามใช้ชีวิตให้เป็นปกติ
    ก่อนการตรวจสุขภาพประจำปี หลายคนมักควบคุมตัวเองอย่างดีก่อนเข้ารับการตรวจเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่หากอยากให้ผลวินิจฉัยเป็นไปอย่างแม่นยำตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตมากที่สุด ก็ควรดูแลตัวเองเหมือนปกติ เพื่อให้แพทย์ได้รู้ผลที่แท้จริงและสามารถให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม
  • เช็กช่วงวันรอบเดือน
    ในช่วงรอบเดือนผู้หญิงจะมีความแปรปรวนจากฮอร์โมน จึงควรตรวจสุขภาพหลังมีประจำเดือน 5-7 วัน เพื่อเลี่ยงผลตรวจที่ผิดพลาดจากฮอร์โมน
  • เลือกเสื้อผ้าที่สะดวกในการตรวจร่างกาย
    ควรเลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ถอดง่าย ไม่มีสิ่งของรกรุงรัง เพื่อความสะดวกและความรวดเร็วในการตรวจร่างกาย

ตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัยได้อย่างครบครัน กับหลากโปรแกรมตรวจสุขภาพ ที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ สมิติเวช ชลบุรี ที่พร้อมดูแลอย่างคุ้มค่า สามารถเลือกตรวจประจำปีและคัดกรองเฉพาะเรื่องที่กังวลใจได้ สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 033-038-888

ข้อมูลอ้างอิง :

  1. ควรตรวจสุขภาพอย่างไรในแต่ละช่วงวัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 จาก https://www.thaihealth.or.th/ควรตรวจสุขภาพอย่างไรใน-2/




doctor icon
แนะนำแพทย์ ประจำศูนย์

icon-articleบทความประจำศูนย์

ดูทั้งหมด