รู้รอบเรื่องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจเมื่อไร ถี่ไหม

(ศูนย์สุขภาพสตรี) ผู้เขียนบทความ : ผู้ดูแล

รู้รอบเรื่องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจเมื่อไร ถี่ไหม

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำคัญแค่ไหน ต้องเริ่มตรวจเมื่อไร

"มะเร็งปากมดลูก” เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยมากเป็นอันดับ 3 ของสตรีไทยและคร่าชีวิตของผู้หญิงไทยเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นกระบวนการที่ช่วยให้ตรวจพบเร็วและรับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีตั้งแต่ก่อนจะเกิดมะเร็งระยะแรก ๆ ลดอัตราการเสียชีวิต ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาได้ชัดเจน

รู้จักมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณปากมดลูก และสามารถป้องกันได้ก่อนกลายเป็นมะเร็ง หรือก่อนระยะลุกลาม ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 
    มะเร็งปากมดลูกนั้นแตกต่างจากมะเร็งชนิดอื่น ๆ ตรงที่ทราบสาเหตุหลักของการเกิดได้ค่อนข้างชัดเจน ทำให้สามารถป้องกันและรักษาได้ง่ายกว่าหากตรวจพบในระยะแรก แต่อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกในระยะแรกนั้นจะยังไม่แสดงอาการใด ๆ ให้สังเกตเห็น ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำจึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะพบเมื่อสายเกินไปจนกลายเป็นระยะลุกลามที่ทำให้เสียชีวิต และเพิ่มโอกาสในการรักษาได้

ผู้หญิงคนไหนเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อเอชพีวี (HPV) ซึ่งเชื้อชนิดนี้มักจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ได้แก่ 

  • มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย 
  • อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป 
  • มีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนบ่อย 
  • มีบุตร 4 คนขึ้นไป 
  • สูบบุหรี่ 
  • ภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง
  • รับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนานเกิน 10 ปี
  • ติดเชื้อ Chlamydia หรือ Herpes simplex virus

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ HPV อาจจะไม่ได้พัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งทุกราย แต่หากมีปัจจัยกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ศักยภาพของเชื้อ HPV การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ก็อาจจะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต 

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะช่วยให้เราทราบได้ตั้งแต่เซลล์ที่มีเชื้อ HPV ก่อนพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง หรือช่วง Premalignant Lesions ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่แสดงอาการ กล่าวง่าย ๆ คือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเสี่ยง จนกว่าจะตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ดังต่อไปนี้ 

การตรวจเซลล์วิทยา (Pap Smear)

การตรวจแปปสเมียร์ เป็นการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับความนิยม โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่างเซลล์ที่อยู่ภายในมดลูก จากนั้นตรวจหาเซลล์ที่มีความผิดปกติ หรือเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง 

ตรวจหาเชื้อ HPV

การตรวจหาเชื้อ HPV เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ในระดับ DNA ซึ่งจะสามารถตรวจพบเชื้อ HPV ก่อนที่จะพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกควรตรวจทุกกี่ปี

ใครควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และควรตรวจถี่แค่ไหน

ผู้หญิงหลายคนอาจจะสงสัยว่า เราควรจะเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่อไร และควรจะตรวจถี่แค่ไหน วันนี้เรามีคำตอบจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยมาฝากกัน

อายุที่ต้องเริ่มตรวจคัดกรอง

  • ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรจะเริ่มตรวจครั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป 
  • ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรจะตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป 

 ความถี่ในการตรวจ

  • แบบเซลล์วิทยา (Pap smear) ควรตรวจทุก ๆ 2 ปี 
  • แบบเซลล์วิทยา (Pap smear) พร้อมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ควรตรวจทุก ๆ 3 ปี 

 อย่างไรก็ตาม หากว่ามีอายุตั้งแต่ 65-70 ปีขึ้นไป หากผลการตรวจเป็นปกติ 3 ครั้งติดต่อกัน และไม่มีผลที่ผิดปกติในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจจะยกเลิกการตรวจคัดกรองได้ 

การเตรียมตัวตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pap Smear

เพื่อให้ผลตรวจที่ได้มีความถูกต้อง และสามารถตรวจคัดกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้เข้ารับการตรวจควรจะเตรียมตัวดังต่อไปนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการตรวจช่วงที่มีประจำเดือน โดยกะเวลาตรวจที่ไม่ตรงกับช่วงที่มีรอบเดือน 
  • งดใช้ยาเหน็บช่องคลอด หรือยาฆ่าเชื้ออสุจิในช่องคลอดก่อนตรวจ 48 ชั่วโมง 
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตรวจ 24 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ผลที่ได้มีความถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
  • งดสวนล้างช่องคลอดก่อนการตรวจ เนื่องจากจะทำให้เชื้อโรคถูกชะล้างออกไป ทำให้ไม่สามารถวินิจฉัยได้

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ หากว่าใครต้องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งชนิดอื่น ๆ สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 033-038-888
 





doctor icon
แนะนำแพทย์ ประจำศูนย์

icon-articleบทความประจำศูนย์

ดูทั้งหมด